ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเมื่อไม่กี่ปีก่อน จะขยายและกลายเป็นตลาดใหญ่เกินกว่าที่ชีวิตประจำวันของมนุษย์จะขาดได้ไปซะแล้ว โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-border e-commerce) เพียงแค่คลิกเราก็สามารถเป็นเจ้าของสินค้าที่ต้องการที่ขายอยู่อีกทวีปหนึ่งได้อย่างง่ายดาย
แม้การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนอาจทำเงินให้ผู้ประกอบการได้มากมายมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เพราะข้อจำกัดของกฎหมายในแต่ละประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องศึกษารายละเอียดให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันผู้ซื้อก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ด้วย
เบื้องต้นของผู้ขายหน้าใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่ต้องรู้ มีดังต่อไปนี้
1.การเลือกวิธีจัดส่งที่เหมาะสม
สิ่งที่ท้าทายผู้ขายมากที่สุดในการส่งสินค้าข้ามพรมแดน คือ ความคาดหวังของลูกค้าที่มีมากต่อเรื่องความรวดเร็วของการจัดส่ง และวิธีการส่งสินค้าให้ถึงมืออย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งผู้ขายถ้าไม่ได้มีประสบการณ์ หรือตัวเลือกให้ผู้ซื้อมากนักก็จะกลายเป็นตัวเลือกสำรองของผู้ซื้อทันที การมีทางเลือกที่หลากหลายให้ลูกค้า ทั้งเรื่องวิธีการจัดส่งหรือค่าใช้จ่ายในการส่งนั้น ถือเป็นข้อสำคัญที่ทำให้ร้านค้าคุณแตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ได้รับความไว้วางใจ และลูกค้ามีเหตุผลในการซื้อกับเรามากขึ้น นอกจากนั้น วิธีการจัดส่งก็มีหลายแบบไม่ว่าจะเป็น การใช้ตัวแทนบริการรับส่งสินค้า หรือ การจัดส่งสินค้าจากคลังสินค้า โดยมีราคาและจะใช้เวลาในการส่งแตกต่างกันออกไป
2.การเลือกบรรจุภัณฑ์
ในการส่งสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือ การลดต้นทุนการจัดส่งให้ได้มากที่สุด ค่าจัดส่งขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนัก และสัดส่วนที่แท้จริงของน้ำหนักของสินค้า ซึ่งเป็นเทคนิคการกำหนดราคาที่ใช้ในการกำหนดน้ำหนัก เพราะฉะนั้นควรคำนึงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ในตอนต้น สินค้าที่มีบรรณจุภัณฑ์สวยงาม แต่ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มมากขึ้นอาจจะไม่ตอบโจทย์สักเท่าไหร่ ผู้ซื้อออนไลน์มักเลือกหยิบของออกจากตะกร้าเมื่อพบว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสูงเกินไป
ทิปส์ง่ายๆ ในการเลือกบรรจุภัณฑ์ มีดังนี้
- ควรใช้วัสดุด้านนอกที่มีความทนทาน เพื่อให้สินค้าถึงปลายทางในสภาพดีเยี่ยม
- บรรจุภัณฑ์ที่มีโลโก้ของแบรนด์จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตัวแบรนด์นั้นได้
- ตรวจสอบบรรณจุภัณฑ์อยู่เสมอๆ
3.ภาษีอากร
การขนส่งข้ามพรมแดนส่วนใหญ่เมื่อสินค้าถึงประเทศปลายทางจะต้องได้รับการชำระภาษีและอากรขาเข้าที่เหมาะสม การคำนวณจำนวนเงินที่ถูกต้องของภาษีและหน้าที่ที่ต้องจ่ายเป็นกระบวนการซับซ้อนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ภาษี (Tax)
ภาษีมักเรียกเก็บในอัตราเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสินค้าชนิดใดก็ตาม จะมียกเว้นบ้างในกรณีสินค้าเฉพาะในบางประเทศหรือบางรัฐ รัฐบาลมีกฎหมายปลอดภาษี เช่น ใบสั่งซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่ำว่า USD 800 จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี
อากร (Duty)
HS Code (Harmonized System) คือ ระบบจำแนกประเภท และระบุชนิดด้วยรหัสเลข 6 หลัก เป็นมาตรฐานสากลที่องค์การศุลกากรโลก (WEC) จัดทำขึ้นเพื่อจัดจำแนกและระบุสินค้าที่มีการซื้อขายได้อย่างถูกต้อง
โดยภาษีศุลกากรโดยทั่วไปจะคำนวณจาก:
- ประเภทผลิตภัณฑ์และการใช้ / ฟังก์ชัน (HS codes)
- ข้อตกลงทางการค้า
- โควต้าการนำเข้าประเทศที่ส่งออก
- วัสดุที่ใช้
- ราคาการขนส่ง
4.การคิดค่าบริการ
ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อรักษาระดับของการบริการจัดส่งสินค้า ค่าบริการอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเหตุผลผู้ให้บริการและที่ตั้ง จึงควรทำความเข้าใจในเหตุผลที่อาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายใดๆ
ตัวอย่างเหตุผลที่พบบ่อยที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บเงินเพิ่ม
- การหักภาษีและการจัดเตรียมเอกสารล่วงหน้า (การจัดส่ง DDP) – ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการเพิ่มสำหรับเอกสารเพิ่มเติมที่จำเป็นต้องจัดเตรียมและส่งสำหรับการจัดส่งทุกครั้ง
- พื้นที่ห่างไกล หรือ พื้นที่เข้าถึงได้ยาก
- สินค้าอันตราย
- สินค้าที่มีขนาดใหญ่เกินมาตรฐาน
- ค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง
- ความปลอดภัยของสถานที่ และแต่ละสถานการณ์บ้านเมือง
- ระบุปลายทางผิดพลาด
5.การคืนสินค้าและการคืนเงิน
เมื่อสินค้าเสียหาย ทำให้ต้องคืนสินค้าและคืนเงิน เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ขาย เพราะทำให้ลูกค้าไม่พอใจและนำไปสู่การที่ลูกค้าคิดลบกับทางร้านได้ เพราะนั่นหมายถึงขั้นตอนการส่งของกลับและการคืนเงินที่ซับซ้อน เพราะฉะนั้นร้านค้าควรมีนโยบายด้านการคืนสินค้าที่ครอบคลุม ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และโปร่งใส ให้เห็นถึงความรับผิดชอบของร้านค้าออนไลน์
6.คลังสินค้าทั่วโลก
ผู้ขายออนไลน์ที่มีผู้ซื้อจำนวนมากในเว็บไซต์ชื่อดังมักใช้คลังสินค้าเป็นที่ดรอปของ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่ง ซึ่งคลังสินค้ามักตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่มีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมากในหลายๆ พื้นที่ โดยในการใช้คลังสินค้าแต่ละที่ ใช้เกณฑ์การตัดสินใจดังนี้
- ความพร้อมใช้งานของคลังสินค้า
- ดูคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลักว่ามาจากที่ใด เพราะนอกจากสินค้าจะถูกจัดส่งได้อย่างง่ายแล้ว ต้นทุนยังต่ำอีกด้วย
- ชนิดของสินค้าว่ามีความพิเศษ หรือข้อยกเว้นหรือไม่
- ดูว่าธุรกิจคุณเติบโตได้เร็ว จนต้องการพื้นที่มากขึ้นหรือไม่
- คลังสินค้าราคาคุ้มหรือไม่
- ใบสั่งซื้อเป็น B2B (Business to Business) หรือ B2C (Business to Consumer)
7.การจัดการสินค้าคงคลัง
การจัดการคลังสินค้ามีความสำคัญในการขายสินค้ามาก ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าผู้ซื้อสินค้าและสต๊อกสินค้าจะมีจำนวนเท่ากันหรือไม่ แต่ปัจจุบันการมีระบบรับคำสั่งซื้ออัตโนมัติสามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยมีการบันทึกการจัดส่งและสถานะการสั่งซื้อ ทำให้การจัดการสินค้าในคงคลังเป็นระเบียบเรียบร้อย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Fundamentals of Cross-Border eCommerce
Source : P.40 - 51 in 002_WP-cross-border-2018
Cross-border e-Commerce ตัวแปรสำคัญ กระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศ
https://bit.ly/2mdBjBS
อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน วิกฤติ โอกาส และความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องรู้
https://bit.ly/2uewvk5
อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน
https://bit.ly/2Nc63yD