DHL เผยรายงานผลการศึกษาล่าสุด ฉายภาพแนวทางเรื่องการหมุนเวียนสู่ความยั่งยืน เพื่ออุตสาหกรรมแฟชั่นและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค
สัญญาณการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเสียหายของสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นที่ประจักษ์ขึ้น ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศทางธรรมชาติของเรา รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในระบบนิเวศเหล่านี้ สังคมและธุรกิจถูกเรียกร้องให้อุทิศตนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยมีหัวใจหลักของความยั่งยืนคือการทำให้แน่ใจว่าการผลิตระดับโลกและพฤติกรรมการบริโภคสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การใช้น้ำและการสร้างขยะ DHL จึงได้เปิดตัวรายงานผลการศึกษาล่าสุดเรื่อง “Delivering on Circularity” หรือ “การส่งมอบการหมุนเวียน” ขึ้น โดยได้สำรวจอย่างแยบคายว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร
“พูดง่ายๆ ก็คือการหมุนเวียนเป็นเรื่องของ 5Rs: Reduce, Repair, Resell, Refurbish และ Recycle (การลด การซ่อมแซม การขายต่อ การปรับแต่ง และการนำกลับมาใช้ใหม่) การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนถูกสร้างขึ้นจากการออกแบบซัพพลายเชนใหม่” แคทยา บุช หัวหน้าฝ่ายการพาณิชย์ของ DHL กล่าว “โซลูชั่นลอจิสติสก์ที่ใช้นวัตกรรมสามารถช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการหมุนเวียนได้ กล่าวคือ โซลูชั่นเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดการไหลเวียนของสิ่งของและข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของวัตถุดิบและการเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้มากที่สุด การยืดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ การคิดค้นโมเดลการใช้แบบใหม่ๆ หรือการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ สำหรับการรีไซเคิลสิ่งของที่หมดอายุการใช้งานแล้ว (end-of-life recycling)
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค
ผลกระทบสำคัญที่สุดจากการผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนน่าจะมาจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ผู้นำในอุตสาหกรรมต่างเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่การหมุนเวียน โดยประกาศเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงและริเริ่มโครงการต่างๆ ผลกระทบเชิงบวกที่อาจเกิดจากการหมุนเวียนของทั้งสองอุตสาหกรรมนั้นมีมากมายมหาศาล ราว 20% ของเสื้อผ้าที่ถูกผลิตขึ้นไม่ผ่านการใช้งาน ส่วนสมาร์ทโฟนก็มีการเปลี่ยนบ่อยๆ หลังจากถูกใช้งานเพียงแค่สองสามปี ซึ่งภาคอุตสาหกรรมทั้งสองรวมกันก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) มากกว่า 6% ของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เราต้องใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ (non-renewable resources) เช่น ดินและโลหะหายากจำนวนมาก
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมทั้งสองยังเป็นที่มาของการใช้ที่ดินจำนวนมหาศาล (มากกว่าพื้นที่ของประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์รวมกัน) การใช้น้ำ (เทียบเท่า 40% ของปริมาณน้ำที่ประชากรสหรัฐอเมริกาใช้ในแต่ละปี) และการสร้างขยะ (เทียบเท่าขยะเกือบ 50% ของยุโรปในแต่ละปี) และเมื่อพิจารณาการปล่อยก๊าซที่เพิ่มขึ้นถึง 80% ระหว่างการผลิตสินค้าแฟชั่นและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคโดยเฉลี่ย ก็ยิ่งทำให้การยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้ได้ยาวนานที่สุดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
“การทำให้เกิดพฤติกรรมผู้บริโภคแบบหมุนเวียนเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนไปสู่การหมุนเวียนที่ประสบความสำเร็จ พฤติกรรมผู้บริโภคเพิ่มจำนวนสินค้าที่ไหลเวียนกลับคืนสู่วัฏจักรและส่งสัญญาณให้เห็นความต้องการของแบรนด์ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์หมุนเวียน นอกจากนี้ เทรนด์ความต้องการด้านความยั่งยืนก็กำลังเติบโต” คาร์สเท็น ลูทเซนเคอร์เชน รองประธานอาวุโส DHL Customer Solutions & Innovation กล่าว “โมเดลธุรกิจหมุนเวียนที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เพียงแต่จะสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ แต่ยังก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกในแง่การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคด้วย นี่เป็นสถานการณ์วิน-วิน แบบคลาสสิกซึ่งทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ โดยมีความยั่งยืนเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตและนวัตกรรม”
การหมุนเวียนสร้างศักยภาพอันยิ่งใหญ่ให้กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และสิ่งแวดล้อม
“เศรษฐกิจหมุนเวียนมีเป้าหมายเพื่อคิดใหม่ ทำใหม่ ว่าเราจะรีไซเคิลสินค้าที่ถูกผลิต ขาย และใช้ในวันนี้ ให้เป็นวัตถุดิบวันพรุ่งนี้ได้อย่างไร เราต้องการเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่มีนวัตกรรม เพื่อที่จะตระหนักถึงศักยภาพเต็มขั้นของแนวคิดนี้และสร้างแบบจำลองให้เกิดขึ้น” แคทยา บุช กล่าวเสริม “แน่นอนว่าการสร้างซัพพลายเชนสำหรับการผลิตตามความต้องการหรือวัฏจักรรีไซเคิล และจัดการกับการไหลเวียนของข้อมูลปริมาณมหาศาลเป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า แต่เพื่อจะบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่วางไว้ร่วมกัน เราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ พวกเราที่ DHL ต่างตั้งตารอที่จะได้ร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการหมุนเวียนให้เกิดขึ้นและเป็นแนวทางสู่ความยั่งยืน โดยเราขอทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการที่ทำให้การไหลเวียนของสิ่งของและข้อมูลภายในวงจรซัพพลายเชนเกิดขึ้น”
จากห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ DHL ได้จำแนกปัจจัยที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จ (enablers) หลักๆ 3 ปัจจัย และหน่วยโครงสร้าง (building blocks) 10 หน่วย ที่ทำให้การเปลี่ยนจากซัพพลายเชนไปเป็นวงจรซัพพลาย (supply loop) ประสบความสำเร็จ ปัจจัยและหน่วยโครงสร้างเหล่านี้มีตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้นวัตกรรมและการออกแบบ จนถึงการผลิตตามความต้องการ การคืนสินค้าอย่างชาญฉลาด การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ แนวคิดการใช้งานแบบใหม่ ตลอดจนถึงการสะสมและการรีไซเคิลสินทรัพย์
เหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีสิ่งจูงใจให้พฤติกรรมผู้บริโภคแบบหมุนเวียนเกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังต้องมีการออกแบบซัพพลายเชนใหม่ด้วย ส่วนความชัดเจนและความสอดคล้องต้องกันจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง ความพยายามร่วมกันระหว่างผู้เล่นทุกฝ่ายจะทำให้การเปลี่ยนไปสู่การหมุนเวียนประสบความสำเร็จและให้ผลคุ้มค่า ส่วนในแง่การลดการปล่อยก๊าซ การหมุนเวียนดูจะเป็นวิธีที่สะดวกสบายและส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซได้จริง การบรรลุการหมุนเวียน 50% จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้พอๆ กับนักสตรีมหนังทั่วโลกหยุดดูหนังเป็นเวลา 5 ปี
การลงมือทำของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็น
หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดรับผิดชอบในส่วนของตนและเร่งให้เกิดวงจรที่แข็งแกร่งร่วมกัน การหมุนเวียนก็สามารถเกิดขึ้นได้จริง ในขณะที่ความสำเร็จในการเปลี่ยนไปสู่การหมุนเวียนเป็นความรับผิดชอบและความพยายามร่วมกันอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ถือเป็นกำลังสำคัญ การหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงวิธีการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากการเคลื่อนย้ายเป็นเส้นตรงไปสู่การเคลื่อนย้ายเป็นวงกลม และการจัดการกับการไหลเวียนของสินค้าล้วนเกี่ยวข้องกับลอจิสติกส์ทั้งสิ้น
########